ความหมายของนิทาน

ความหมายของนิทาน

“นิทาน” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 (2546, หน้า 588) อธิบายความหมายไว้ว่า “นิทาน คือ เรื่องที่เล่ากันมา เช่น นิทานชาดก และนิทานอีสป เป็นต้น”

นอกจากนี้ยังมีท่านผู้รู้อธิบายความหมายไว้คล้ายๆกัน เช่น

กุหลาบ มัลลิกะมาส (2518, หน้า 99-100) กล่าวถึง “นิทาน” ไว้ในหนังสือคติชาวบ้านว่า นิทานเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะที่เล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน เพื่อความสนุกสนานเบิกบานใจ ผ่อนคลายความตึงเครียด เพื่อเสริมศรัทธาในศาสนา เทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นคติเตือนใจ ช่วยอบรมบ่มนิสัย ช่วยให้เข้าใจสิ่งแวดล้อมและปรากฏการณ์ธรรมชาติ เนื้อเรื่องของนิทานเป็นเรื่องนานาชนิด อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัย ความรัก ความโกรธ เกลียด ริษยา อาฆาต ตลกขบขัน หรือเรื่องแปลกประหลาดผิดปกติธรรมดา ตัวละครในเรื่องก็มีลักษณะต่างๆกัน อาจเป็นคน สัตว์ เจ้าหญิง เจ้าชาย อมนุษย์ แม่มด นางฟ้า แต่ให้มีความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรมต่างๆเหมือนคนทั่วไปหรืออาจจะเหมือนที่เราอยากจะเป็น เมื่อนิทานตกไปอยู่ในท้องถิ่นใดก็มักมีการปรับเนื้อเรื่องให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของถิ่นนั้น นิทานในแต่ละท้องถิ่นจึงมีเนื้อเรื่องส่วนใหญ่คล้ายคลึงกัน คือ สภาพความเป็นมนุษย์ อารมณ์ ความรู้สึกรัก เกลียด ความโง่ ฉลาด ขบขัน อาฆาตแค้น หรือทุกข์ สุข ส่วนรายละเอียดจะแตกต่างไปบ้างตามสภาพแวดล้อมและอิทธิพลของวัฒนธรรมความเชื่อของ แต่ละท้องถิ่น

วลัย  วลิตธำรง  ( 2525: 22-26 )  ได้ให้ความหมายของนิทานว่า หมายถึง เรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาเป็นทอด ๆ จนถึงปัจจุบัน นิทานอาจเป็นเรื่องที่อิงความจริงหรือมีการเล่าเสริมต่อให้สนุกสนาน ตื่นเต้น ลึกลับ หรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาจากจินตนาการของผู้เล่าเองก็ได้ และอาจสอดแทรกคติเตือนใจ หรือแนวทางปฏิบัติที่ถูกที่ควรในการดำรงชีวิตด้วย

ทรงธรรม  สุทธิธรรม ( 2534: 56 )  ได้ให้ความหมายนิทานว่า  เรื่องที่เล่าสืบต่อกันมา หรือแต่งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายที่ความสนุกสนานหรือสอดแทรกแนวคิดคุณธรรม  ลักษณะที่พึงประสงค์แก่เด็ก  เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามได้อย่างเหมาะสมในการดำรงชีวิตในสังคม

เกริก  ยุ้นพันธ์ (2539 อ้างถึงใน  น้ำฝน  ปิยะ 2543: 9) ให้ความหมายของนิทานว่า นิทานคือเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณเป็นการผูกเรื่องขึ้น ให้ผู้ฟังเกิดความสนุกสนาน  แฝงคำสอนจรรยาในการใช้ชีวิต  เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมต่อเนื่องของผู้เล่าให้คนรุ่นใหม่ฟัง

ประคอง  นิมมานเหมินท์ ( 2537: 59 )  ให้ความหมายของคำว่า “นิทาน” ที่ใช้ในวิชาคติชนวิทยา หมายถึง เรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาจนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง นิทานเหล่านี้บางทีเรียกว่า นิทานพื้นบ้าน นิทานพื้นเมือง นิทานชาวบ้าน

สุมามาลย์ พงษ์ไพบูลย์ (2542, หน้า 7) กล่าวว่า นิทานเป็นคำศัพท์ภาษาบาลี หมายถึง คำเล่าเรื่อง ไม่ว่าเป็นเรื่องประเภทใด แต่อยู่ที่ลักษณะการเล่าที่เป็นกันเอง แม้จะเป็นข้อเขียนก็มีลักษณะคล้ายกับการเล่าที่เป็นวาจา โดยใช้ภาษาพูดหรือภาษาปากในการเล่า

จากความหมายดังที่กล่าวพอสรุปได้ว่า นิทาน คือ  เรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมา โดยมีจุดมุ่งหมายที่ความสนุกเพลิดเพลินเพื่อให้เด็กเกิดจินตนาการจากเรื่องที่อ่าน  อาจเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องที่สมมุติขึ้น  แต่ในนิทานจะสอดแทรกคุณธรรม  คติสอนใจ  แง่คิด  และวัฒนธรรมประเพณีเพื่อให้เด็กนำไปเป็นแบบอย่างหรือประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

ใส่ความเห็น