หลักในการจัดทำหนังสือสำหรับเด็ก

อรอนงค์ โชคสกุลและศรีอัมพร ประทุมนันท์ (2544, หน้า10-12) ได้กล่าวถึงลักษณะของหนังสือสำหรับเด็ก ดังนี้

1. เนื้อหาของหนังสือต้องมีความเหมาะสมกับวัย ระดับชั้นและความสนใจของเด็ก เนื้อหาจะต้องมีความสนุกสนาน มีการดำเนินเรื่องน่าสนใจ ไม่ใช้การบรรยายมากเกินไป ไม่ทำให้น่าเบื่อ เด็กเล็ก ๆ ควรมีเนื้อหาเพียงเล็กน้อยใน 1 หน้า ถ้าเป็นเด็กที่โตขึ้น เนื้อหาจะเพิ่มขึ้นตามวัยของเด็กได้แต่ต้องดูความเหมาะสมเป็นเกณฑ์ในการจัดทำเนื้อหา

2. เนื้อหาต้องมีแก่นของเรื่องหรือวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน เนื้อหาของหนังสือระดับเด็กเล็กควรมีความคิดรวบยอดเพียงอย่างเดียว เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายไม่สับสน ส่วนเนื้อหาของเด็ก ที่กำลังย่างเข้าสู่วัยรุ่น จะมีความคิดรอบยอดมากกว่าหนึ่งก็ได้ แต่ต้องสอดคล้องกันอย่างมีระบบและมีความเหมาะสมกลมกลืนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

3. เนื้อหาจะต้องมีรูปแบบที่ชัดเจน เช่น จะเขียนเนื้อหาเป็นบทร้อยแก้วหรือบทร้อยกรอง ก็ควรจะกำหนดให้แน่นอนก่อนจะลงมือเขียน นอกจากจะกำหนดการเขียนเป็นบทร้อยแก้วหรือบทร้อยกรองแล้ว ยังจะต้องกำหนดให้ชัดเจนอีกว่าจะเขียนเนื้อหาในรูปแบบใด เช่น นิทาน นิทานพื้นบ้าน เรื่องสั้น บทละคร บันทึกเรื่อง สารคดี เป็นต้น

4. สำนวนภาษา ลักษณะการเขียนประโยคในหนังสือเด็ก สำนวนภาษาและประโยคที่จะนำมาเขียนในหนังสือเด็กจะต้องเป็นภาษาง่าย ๆ อ่านแล้วสามารถเข้าใจความหมายได้โดย ไม่ต้องนำมาแปลอีกครั้งและการเขียนทุกคำจะต้องถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางภาษา เด็ก ๆ จะได้นำไปใช้อย่างถูกต้องทั้งในด้านการเขียนและการนำไปใช้ต่อไป

5. ภาพประกอบที่ใช้ในหนังสือสำหรับเด็ก การใช้ภาพประกอบในหนังสือสำหรับเด็กมีหลายวิธี เช่น ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพตัดแปะ เป็นต้น ในการนำภาพมาประกอบหนังสือสำหรับเด็ก เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้จัดทำจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย เพื่อจะทำภาพได้อย่างเหมาะสมตามความสนใจและพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย เช่น เด็กก่อนวัยเรียน (อายุ2 -6 ขวบ) ควรเป็นหนังสือที่มีภาพมาก ๆ มีตัวหนังสือประกอบได้เล็กน้อย แต่สำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น(อายุ 12-14 ขวบ) ไม่จำเป็นต้องมีภาพประกอบทุกหน้า

6. ขนาดตัวอักษรและขนาดของรูปเล่ม ในการจัดทำหนังสือสำหรับเด็ก ขนาดตัวอักษรที่ใช้ในเนื้อเรื่อง ควรจะให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก เช่น เด็กวัยก่อนเรียน ใช้ตัวอักษรโต ขนาดประมาณ 20-30 พอยท์ (ประมาณ 1/2 ช.ม.) และตัวอักษรที่ใช้ไม่ควรเป็นตัวอักษรลวดลาย ควรเป็นตัวอักษรที่มีรูปแบบที่ชัดเจน อ่านง่าย การเขียนอักษรแต่ละตัวถูกต้องตามหลักเกณฑ์

ทางภาษา เด็กวัยที่สูงขึ้น ตัวอักษรจะมีขนาดลดลงได้ตามความเหมาะสม สำหรับขนาดของรูปเล่ม หนังสือสำหรับเด็กควรมีขนาดไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป จำนวนหน้าก็เช่นเดียวกัน ต้องมีจำนวนเหมาะสมกับวัยของเด็ก

จำนวนหน้าของหนังสือสำหรับเด็กที่นิยมจัดทำกัน มีดังนี้

จำนวน 8-16 หน้า สำหรับเด็กวัย 2-5 ขวบ

จำนวน 16 -32 หน้า สำหรับเด็กวัย 6-11 ขวบ

ขนาดรูปเล่มของหนังสือสำหรับเด็ก

ขนาด 8 หน้ายก (18.5 × 26 ซ.ม.)

ขนาด 16 หน้ายกเล็ก (13 × 18.5 ซ.ม.)

ขนาด 16 หน้ายกใหญ่ (14.8 × 21 ซ.ม.)

การจัดทำขนาดรูปเล่มจะเป็นแนวนอนหรือแนวตั้งก็ได้ ในการจัดทำรูปเล่ม การเข้าเล่มก็เป็นส่วนสำคัญเพราะถ้าเราทำรูปเล่มไม่แข็งแรง จะทำให้หนังสือขาดได้ง่าย ไม่สะดวกในการนำไปอ่านของเด็กๆ ปกของหนังสือจึงควรใช้กระดาษหนาทำปกแข็งเพื่อ ความแข็งแรงและคงทน นอกจากลักษณะหนังสือสำหรับเด็กที่กล่าวมาแล้ว ในตอนท้ายสุด ของหนังสือสำหรับเด็ก อาจจะมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาและมีความสัมพันธ์กับหนังสือให้เด็ก ๆได้ทำกิจกรรมนั้น ๆ หลังจากอ่านหนังสือสำหรับเด็กจบแล้ว เช่น คำอธิบายศัพท์ คำถาม แบบฝึกหัด เกม หนังสืออ้างอิง เป็นต้น

ถวัลย์ มาศจรัส (2538, หน้า 28) กล่าวถึงข้อสรุปเรื่องที่เด็กสนใจ จากการประชุมปฏิบัติการเขียนหนังสือสำหรับเด็กที่มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ (ประสานมิตร) ร่วมกับ UNESCO ระหว่างวันที่ 18-28 พฤษภาคม 2533 นั้นได้สรุปเรื่องที่เด็กสนใจดังนี้

อายุ 1-3 ปี จะชอบเรื่องสั้น ๆ มีตัวละคร 2-3 ตัว โครงเรื่องไม่ซับซ้อนและ จบเรื่องด้วยความสมหวัง

อายุ 4-5 ปี จะชอบเทพนิยาย นิยายเกี่ยวกับสัตว์ ชอบฟังเพลงเห่กล่อม

อายุ 5-8 ปี สนใจภาพ ชอบเรื่องง่าย ๆ ที่อ่านเข้าใจด้วยตัวเอง ประเภท เทพนิยาย นิยายพื้นบ้าน ถ้าโครงเรื่องซับซ้อนไม่มากนักเด็กจะเข้าใจได้

อายุ 8-10 ปี ชอบนวนิยาย สารคดี ชอบอ่านหนังสือด้วยตนเอง ชอบอ่าน

หนังสือที่มีเนื้อหาสาระ เรื่องวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ เครื่องยนต์กลไก ชีวประวัติของบุคคลสำคัญ

เด็กผู้หญิงสนใจโคลง กลอน ส่วนเด็กผู้ชายไม่ค่อยชอบ ภาษาที่ใช้เขียน เรื่องให้เด็กวัยนี้อ่านควรใช้ภาษาพูด เด็กจะให้ความสนใจติดตามอ่าน

อายุ 11-16ปี การเขียนเรื่องให้เด็กวัยนี้อ่าน จะต้องใช้เทคนิคและกรรมวิธี เช่นเดียวกับการเขียนเรื่องสำหรับผู้ใหญ่ เด็กวัยนี้ขอบอ่านเรื่องยาว เรื่องที่มีเนื้อหาสาระ เรื่องสมจริง”

เกริก ยุ้นพันธ์ (2539, หน้า 68) กล่าวถึงหลักในการเลือกเรื่องนิทานสำหรับเด็ก

ไว้ดังนี้

“เรื่องที่เล่า ควรจะเลือกให้เหมาะสมกับวัยต่าง ๆ ของเด็ก

1. จะต้องพิจารณาเรื่องเวลาให้เหมาะสมกับการเล่านิทาน สำหรับเด็กวัยต่าง ๆ ซึ่งมีช่วงระยะเวลาความสนใจและสมาธิการฟังแตกต่างกัน

2. จะต้องเป็นเรื่องสำหรับเด็กที่ผู้เล่าสนใจและชื่นชอบ

3. ผู้เล่าจะต้องเลือกเรื่องที่จะใช้เล่า ให้เหมาะสมกับวิธีและกระบวนการเล่าแบบต่าง ๆ

4. เรื่องที่เลือกมาเล่า จะต้องมีเนื้อเรื่องสนุกสนานชวนติดตาม และมีความยาวของเรื่องพอเหมาะพอดี

5. เนื้อหาของเรื่องจะต้องมีสาระ ค่านิยม ความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมเหมะสมกับการปลูกฝังความดีและความงาม”

หนังสือนิทานสำหรับเด็ก เป็นสื่อสำคัญอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถทำให้เด็กเกิด

การเรียนรู้และเข้าใจ ซึมซับอย่างไม่รู้ตัว การเขียนหนังสือนิทานสำหรับเด็กต้องมีลักษณะ

การเขียนที่ดีเพื่อให้ผู้เรียนสนใจและอยากอ่าน เนื้อหาต้องมีสาระ ขนาดตัวอักษร สำนวนภาษาเข้าใจง่ายเหมาะสมกับวัย รูปภาพมีสีสันน่าสนใจและอยากอ่าน

ChildrensBooksCollage.jpg (1000×609)

2. ขั้นตอนการสร้างหนังสือสำหรับเด็ก

ฉวีวรรณ คูหาภินันท์ (2527, หน้า 12-21) ได้เสนอขั้นตอนการทำหนังสือสำหรับเด็ก ดังนี้

ขั้น 1 ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการทำหนังสือเด็ก โดยศึกษาจากตำรา เอกสารต่าง ๆ การอบรม สัมมนา ศึกษาจากหนังสือสำหรับเด็กที่ได้รับรางวัลจากการประกวด เป็นต้น

ขั้น 2 เขียนโครงเรื่อง (Plot) จะทำให้ทราบว่าเป็นเนื้อเรื่องเกี่ยวกับอะไร พร้อมกับบอกแกนของเรื่อง เพื่อจะได้ทราบว่าหนังสือเด็กเรื่องนั้นมีแกนของเรื่องอย่างไร แล้วจึงคิดผูกเป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน

ขั้น 3 เนื้อเรื่องย่อ คือ การเขียนเนื้อเรื่องย่อ ๆ ของเรื่องที่จะแต่งขึ้นมา ทำให้ผู้อ่านทราบได้ว่าเนื้อเรื่องนี้ มีเนื้อเรื่องย่อเกี่ยวกับอะไร ซึ่งจะละเอียดกว่าโครงเรื่อง

ขั้น 4 เขียนบทสคริปต์ (Script) คือ การนำเรื่องราวที่ได้จากโครงเรื่องมาเขียนบอก ขั้นตอนของเนื้อเรื่องและรูปภาพ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดวางภาพและรูปเล่ม ของหนังสือตั้งแต่หน้าปกจนถึงหน้าสุดท้าย

ขั้น 5 การทำดัมมี่ (Dummy) คือ การทำหนังสือจำลองของหนังสือที่จะทำขึ้นมา โดยทำรายละเอียดจากบทสคริปต์มาเขียนและวาดรูปหรือทำสัญลักษณ์แทนรูป เป็นการทดลองก่อนที่จะพิมพ์เป็นเล่ม เพื่อดูความเหมาะสม

ขั้น 6 การทำรูปเล่ม (Format) คือ การทำหนังสือจริง ๆ ได้แก่ การวาดภาพ คำบรรยายรวมทั้งการวางหน้า การจัดภาพ (layout) ของหนังสือให้เหมาะสมโดยดูจากดัมมี่ สำหรับขนาดของรูปเล่มมีหลายขนาดที่นิยมคือ ขนาดเล็ก13 ซม.×18.5 ซม. หรือ 16 หน้ายก ขาดกว้าง 14.6 ซม.× 21ซม. หรือ 16 หน้ายกใหญ่ ลักษณะของรูปเล่มมี 2 ลักษณะ คือ แบบแนวตั้งและแบบแนวนอน

ขั้น 7 การตั้งชื่อเรื่อง ต้องน่าสนใจ น่าติดตามอ่าน โดยอาศัยการพิจารณาจาก เนื้อเรื่อง ในการสร้างหนังสือที่ดีสำหรับเด็ก ผู้สร้างต้องการวางแผนที่ดีเพราะจะช่วยให้หนังสือ ที่จัดทำขึ้นมีคุณค่า น่าอ่านชวนติดตาม ตลอดจนจูงใจให้เด็กรักการอ่านยิ่งขึ้น

ถวัลย์ มาศจรัส (2539, หน้า41-47) ได้กล่าวถึงขั้นตอนการเขียนหนังสือ ดังนี้

ขั้นที่ 1 ปัจจุบันสอนกลุ่มประสบการณ์อะไร

ขั้นที่ 2 จะเขียนหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชั้นประถมศึกษาปีที่เท่าไร

ขั้นที่ 3 เขียนเรื่องอะไร (แล้วตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้)

1) เขียนทำไม เพื่ออะไร

2) เนื้อหาเป็นอย่างไร

3) สาระที่ได้คืออะไร

4) รูปแบบการเขียนเป็นอย่างไร (ร้อยแก้วหรือร้อยกรอง)

ขั้นที่ 4 หาข้อมูลจากที่ไหน

ขั้นที่ 5 วางแผนการเขียนไว้อย่างไร

ขั้นที่ 6 จะลงมือเขียนเมื่อไร และกำหนดจะให้แล้วเสร็จเมื่อได

ขั้นที่ 7 ลงมือเขียน

การสร้างหนังสือสำหรับเด็กต้องสร้างเป็นลำดับขั้นตอน เป็นการปฏิบัติที่มีแบบแผน ทั้งยังเป็นการสร้างวินัยให้กับตนเองอีกด้วย และต้องศึกษาข้อมูลจากงานเอกสารและแหล่งต่าง ๆหลาย ๆ แหล่ง เพื่อจะได้นำความรู้และประสบการณ์ มาเป็นแนวทางสำหรับพัฒนาหนังสือให้ได้หนังสือที่มีคุณภาพและน่าสนใจ

ใส่ความเห็น